ข่าวประชาสัมพันธ์
วิธีปฏิบัติเพื่อความปลอดภัย เมื่อใช้ถนนผ่านเสมอระดับทางรถไฟ
โพสต์เมื่อ : 10 เมษายน 2568

วิธีปฏิบัติเพื่อความปลอดภัย เมื่อใช้ถนนผ่านเสมอระดับทางรถไฟ

แนะนำวิธีปฏิบัติเพื่อความปลอดภัย เมื่อใช้ถนนผ่านเสมอระดับทางรถไฟ เพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่อาจจะเกิดขึ้นต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้ใช้เส้นทางสัญจร

 

หนึ่งในอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งของรถไฟ มักเกิดขึ้นตรงบริเวณถนนผ่านเสมอระดับทางรถไฟโดยเฉพาะทางลักผ่าน ซึ่งทางเหล่านั้นไม่ได้ขออนุญาตหรือไม่ได้รับอนุญาตจากการรถไฟ จึงเป็นทางตัดผ่านที่ไม่มีการควบคุมด้านความปลอดภัย บวกกับความประมาทเลินเล่อของผู้ใช้ทางร่วมสัญจร และเพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุดังกล่าว เราจึงมีวิธีปฏิบัติเมื่อต้องใช้ถนนผ่านเสมอระดับทางรถไฟมาฝากกัน 1. สังเกตป้ายสัญลักษณ์ หรือลูกคลื่นบนพื้นผิวถนน ก่อนข้ามถนนผ่านเสมอระดับทางรถไฟ สังเกตป้ายสัญลักษณ์ หรือ ลูกคลื่นบนพื้นผิวถนน เพื่อชะลอความเร็วให้ดี ๆ เพราะนั่นเป็นสัญญาณบอกให้ผู้ขับขี่รู้ว่า ข้างหน้ามีจุดตัดทางรถไฟ โดยทั้งป้ายสัญลักษณ์และลูกคลื่นชะลอความเร็ว ทางรถไฟได้ดำเนินการจัดทำมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีทั้งหมดมากกว่า 2,000 จุดทั่วประเทศ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าสามารถป้องกันอุบัติเหตุได้ 100% ทุกอย่างล้วนขึ้นอยู่กับพฤติกรรมการใช้รถใช้ถนนของผู้ขับขี่ร่วมด้วยเช่นกัน 2. ห้ามขับแซงรถอื่น ในระยะ 30 เมตร ก่อนถึงทางรถไฟ ผู้ขับขี่ทุกคนไม่ควรเอาตัวเองไปตกอยู่ในความประมาท อย่าคิดว่าสามารถขับแซงรถคันข้างหน้าในระยะเท่านั้นเท่านี้เมตรได้สบาย เพราะแซงบนถนนปกติ กับแซงใกล้กับบริเวณทางรถไฟ ความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุย่อมแตกต่างกัน แนะนำว่าให้ขับขี่ตามกฎจราจรตามปกติ น่าจะเป็นวิธีที่ดีที่สุด 3. ก่อนข้ามถนนผ่านเสมอระดับทางรถไฟ ให้ชะลอความเร็ว และพร้อมหยุดรถได้ทันทีที่มีสัญญาณเตือน สังเกตให้ดีว่าถนนผ่านเสมอระดับทางรถไฟที่ผ่านมีเครื่องหมายระวังรถไฟหรือไม่ ในกรณีที่ทางรถไฟนั้นไม่มีสัญญาณระวังรถไฟหรือสิ่งปิดกั้น ผู้ขับขี่ต้องลดความเร็วและหยุดรถห่างจากทางรถไฟในระยะไม่น้อยกว่า 5 เมตร เมื่อเห็นว่าปลอดภัยแล้วจึงจะขับรถผ่านไปได้ 4. หากมีสัญญาณเตือน หรือแผงกั้นทางรถไฟปิดลงมา ให้หยุดรถห่างจากทางรถไฟอย่างน้อย 5 เมตร กรณีที่มีสิ่งปิดกั้นหรือมีเจ้าหน้าที่ให้สัญญาณ แสดงว่ารถไฟกำลังแล่นผ่านเข้ามาใกล้ ผู้ขับขี่จึงจำเป็นที่จะต้องลดความเร็วหรือหยุดรถให้ห่างจากทางรถไฟอย่างน้อย 5 เมตรเช่นกัน และเมื่อรถไฟผ่านไปแล้ว และมีเครื่องหมายหรือสัญญาณให้รถผ่านได้ ผู้ขับขี่จึงค่อยขับต่อไป 5. ห้ามยกแผงกั้นหรือขับฝ่าทางรถไฟ หากมีสัญญาณเตือนว่ารถไฟกำลังเข้ามาใกล้ การยกแผงกั้นหรือขับฝ่าทางรถไฟ ห้ามทำโดยเด็ดขาด เนื่องจากรถไฟที่ขับมาด้วยความเร็วสูงจะไม่สามารถหยุดได้อย่างทันท่วงที จึงควรรอจนกว่าขบวนรถไฟผ่านไปหรือเจ้าหน้าที่เปิดแผงกั้นออก จึงจะขับรถข้ามถนนผ่านเสมอระดับทางรถไฟได้ 6. หากไม่มีสัญญาณเตือนหรือแผงกั้นทางรถไฟ ผู้ขับขี่ควรเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษ หากทางข้ามรถไฟนั้นไม่มีสัญญาณเตือนหรือแผงกั้นรถไฟ และข้างหน้ามีรถหยุดรออยู่ ให้หยุดรถรอตามคันข้างหน้า และเมื่อต้องขับข้ามถนนผ่านเสมอระดับทางรถไฟ เตือนตัวเองไว้ว่า มองซ้ายและขวาให้แน่ใจ ว่าไม่มีรถไฟแน่ ๆ แล้วค่อยขับผ่านไปได้ 7. มองซ้าย-ขวาให้ดี ๆ ก่อนขับข้ามผ่านถนนเสมอระดับทางรถไฟ พึงระลึกไว้เสมอว่าการขับรถข้ามทางรถไฟเป็นไปได้อย่าพะวักพะวน ให้มองซ้าย-ขวาให้ดี ๆ และเมื่อแน่ใจแล้วว่าไม่มีรถไฟผ่าน ค่อข้ามไปได้ เพราะทุกเสี้ยวของการตัดสินใจ มีผลต่อความเสี่ยงของการเกิดอุบัติเหตุเสมอ เน้นย้ำว่าควรตัดสินใจอย่างเด็ดขาด หากแต่ความเด็ดขาดนั้นต้องไม่ทำให้ตัวเองประมาทด้วยเช่นกัน 8. ห้ามหยุดรถคร่อมทางรถไฟ หากมีสัญญาณไฟจราจรในบริเวณทางรถไฟ ผู้ขับขี่ไม่ควรหยุดรถคร่อมรางรถไฟเป็นอันขาด เพราะหากรถไฟวิ่งผ่านมา จะไม่สามารถเคลื่อนรถหนีได้ทัน และนั่นอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุตามมาได้โดยง่าย สุดท้ายนี้เพื่อความปลอดภัย ผู้ขับขี่ควรเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษในการขับรถผ่านถนนผ่านเสมอระดับทางรถไฟ โดยเฉพาะการขับรถในเส้นทางที่ไม่คุ้นเคย นั่นยิ่งต้องเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษ ทุกชีวิตมีค่า ลดความสูญเสียด้วยการลดความประมาทเมื่อต้องขับขี่ทุกครั้ง ขอบคุณข้อมูลจาก เว็บไซต์ royin.go.th, เฟซบุ๊ก ทีมพีอาร์การรถไฟแห่งประเทศไทย ที่มา : KAPOOK https://travel.kapook.com/view231605.html